หลักเกณฑ์อะไรบ้างที่ธนาคารใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกู้
2017/02/28 8:21 AM
5,922 Views
เมื่อเรามีความจำเป็นที่จะต้องขอเงินกู้ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม เช่น กู้เพื่อซื้อบ้าน กู้เพื่อรีไฟแนนซ์บ้าน กู้เพื่อซื้อรถยนต์ กู้เพื่อซ่อมแซมบ้าน กู้เพื่อปิดหนี้บัตรเครดิต กู้สินเชื่อเงินสด ฯลฯ สิ่งที่เราต้องการรู้เป็นสิ่งแรกเพื่อให้ขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องพิจารณาความเป็นไปได้ในการขอเงินกู้ของตัวเองนั้น ก็คือ ธนาคารมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างที่จะใช้พิจารณาเพื่ออนุมัติเงินกู้ให้กับเรา
หากเราได้ทราบหลักเกณฑ์ที่ธนาคารใช้ เราก็จะพอทราบว่ามีโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่เราจะได้รับอนุมัติเงินกู้ประเภทนั้น ๆ หรือไม่ หากดูแล้วมีความเป็นไปได้เราจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นกู้ แต่หากดูแล้วคุณสมบัติของเราไม่น่าจะผ่านหลักเกณฑ์ที่ธนาคารใช้พิจารณา เราก็อาจจะต้องรอเวลาหรือหาช่องทางอื่นเพื่อให้คุณสมบัติของเราเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้
หลักเกณฑ์ที่ธนาคารจะใช้เพื่อพิจารณาในการอนุมัติเงินกู้นั้นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปตามประเภทของเงินกู้ ถ้าเป็นการกู้เงินระยะยาวมีวงเงินกู้จำนวนมาก หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติของธนาคารก็อาจจะต้องมีรายละเอียดที่มากกว่า เอกสารในการเตรียมเพื่อขอกู้เงินก็จะเยอะกว่า แต่หากเป็นการกู้เงินในวงเงินจำนวนไม่มากนัก กู้เงินในระยะเวลาสั้น ๆ รายละเอียดในเรื่องของหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและเอกสารก็จะผ่อนคลายมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ประเภทใดก็ตาม หลักเกณฑ์ทั่วไปที่ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่ธนาคารจะใช้พิจารณาเพื่ออนุมัติเงินกู้ก็จะมีดังต่อไปนี้
•รายได้ รายได้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ๆ ที่ธนาคารจะใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกู้ทุกประเภท เพราะรายได้จะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคตของลูกหนี้ หากผู้ขอกู้เงินมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดไว้ในคุณสมบัติของผู้กู้ โอกาสในการได้รับอนุมัติก็แทบไม่มีเลยแน่นอน รายได้จะต้องถึงเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้เท่านั้น จึงจะยื่นขอเงินกู้ได้ ส่วนผู้ขอเงินกู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด ธนาคารก็จะพิจารณาคุณสมบัติในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป แต่อย่างผู้ที่มีรายได้มากก็มีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้มากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยแน่นอน
•ประวัติการชำระหนี้ ประวัติในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีส่วนสำคัญมากที่ธนาคารจะใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกู้ หากลูกหนี้เคยมีประวัติในการขอเงินกู้มาก่อนและชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่มีเครดิตดี โอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้ให้ก็สูงขึ้น ธนาคารก็จะพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ต่อไป แต่หากลูกหนี้มีประวัติในการชำระหนี้ที่ไม่ดี เช่น เคยมีประวัติจ่ายเงินคืนล่าช้าหรือมีประวัติหนี้เสีย โอกาสที่ธนาคารจะปฏิเสธเงินกู้ก็มากเช่นกัน แม้ว่าคุณสมบัติอื่น ๆ จะได้ตามเกณฑ์ก็ตาม
เรื่องประวัติในการชำระหนี้ที่ว่าสำคัญก็เห็นได้จาก คนที่ขอกู้เงินเป็นครั้งแรกไม่เคยมีประวัติในการชำระหนี้ หรือเรียกว่าเป็นคนที่ไม่เคยมีเครดิต บางครั้งธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติเงินกู้ให้ได้เช่นกันหรือบางคนมีประวัติไม่ดีในการชำระหนี้ล่าช้าจากสินเชื่อเงินสด เช่น บัตรกดเงินสดหรือเคยมีประวัติหนี้เสีย เมื่อถึงคราวต้องขอเงินกู้ที่จำเป็นอย่างเช่น บ้านหรือรถยนต์ก็อาจมีปัญหาไม่ได้รับอนุมัติได้เช่นกัน
ส่วนคนที่มีเงินกู้บ้านหรือบัตรเครดิตและมีประวัติในการชำระหนี้ที่สม่ำเสมอ ไม่เคยจ่ายช้าหรือมีประวัติหนี้เสียเลย โอกาสในการขอสินเชื่อเงินสด ประเภทบัตรกดเงินสดหรือสินเชื่อส่วนบุคคลก็มีโอกาสได้รับอนุมัติสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
•ภาระหนี้ ภาระหนี้เป็นอีกหลักเกณฑ์หนึ่งที่ธนาคารจะใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกู้ หากลูกค้ามีรายได้มากมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ขอใหม่นี้ได้อย่างสบาย แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่ก็ต้องผ่อนทั้งบ้าน ผ่อนทั้งรถยนต์ ทำให้รายได้ที่เรียกว่ามากนั้นไม่ได้มากอย่างที่คิด ต้องนำไปจ่ายคืนหนี้หลายอย่างที่มีอยู่ ธนาคารก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธด้วยเหตุผลของภาระหนี้ที่มากเกินไปได้เช่นกัน โดยมากภาระหนี้ที่ธนาคารจะดูเป็นหลักเกณฑ์ก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 50% ของรายได้ต่อเดือน แต่เรื่องหลักเกณฑ์ของภาระหนี้นี้ก็จะมีความยืดหยุ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละธนาคารขึ้นอยู่กับนโยบายในการปล่อยสินเชื่อและประเภทของเงินกู้ที่ลูกหนี้ยื่นขอด้วย
•อายุ ปกติอายุที่ธนาคารกำหนดไว้ว่าสามารถยื่นขอเงินกู้ได้จะอยู่ที่ 20 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากเป็นอายุของผู้กู้ที่มักจะเรียนจบและมีงานทำเรียบร้อยแล้ว ส่วนอายุมากที่สุดของผู้ที่ขอกู้เงินได้ธนาคารจะกำหนดไว้ให้ไม่เกินกว่า 65 หรือ 70 ปี เมื่อรวมกับระยะเวลาตามสัญญาที่ต้องจ่ายหนี้คืนแล้ว เรื่องอายุเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่อง หากอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ก็ไม่สามารถขอกู้เงินได้
•ระยะเวลาทำงาน ธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดระยะเวลาในการทำงานของผู้ขอเงินกู้ไว้ เช่น ผู้กู้ที่เป็นพนักงานประจำจะต้องทำงานที่ทำงานปัจจุบันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการจะต้องดำเนินธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เป็นต้น การกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของระยะเวลาในการทำงานของผู้กู้ไว้ก็เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงของการทำงานและการได้รายได้ของผู้กู้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ได้
หลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลักเกณฑ์สำหรับการขอเงินกู้จากธนาคารทุกประเภท แต่หากเป็นเงินกู้ที่ขอโดยที่ต้องใช้หลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันด้วย ธนาคารก็จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกันเพิ่มขึ้นด้วย